รู้เท่าทันแก๊สรถยนต์

Last updated: 8 ก.ย. 2551  |  11230 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้เท่าทันแก๊สรถยนต์



รู้เท่าทันแก๊สรถยนต์

                  ก่อนอื่นคงต้องเรียนให้ผู้อ่านได้ทราบกันก่อนว่า บทความที่เขียนขึ้นมานี้เป็นการแนะนำหรือเป็นข้อมูล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจที่จะเลือกพลังงานทดแทนให้กับรถท่านเอง โดยผู้เขียนเองก็มิได้เรียนจบอะไรมากมายนะ เพียงแต่ว่ามีประสบการณ์ทางด้านรถยนต์มาพอสมควร และก็อยากจะนำสิ่งที่รู้มาบอกกล่าวกัน เพื่ออย่างน้อยผู้อ่านจะได้นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ

                  เชื้อเพลิงทดแทนตอนนี้ที่กำลังมาแรงก็คงไม่พ้นแก๊ส  NGV และ LPG เพราะราคาค่อนข้างถูกยิ่ง NGV   ปตท.เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้วยแล้วเรายิ่งให้การยอมรับโดยไม่ต้องดูรายละเอียดกันเลยก็มี อย่าด่วนใจร้อนหรือรีบร้อนในการตัดสินใจที่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าลืมว่าสิ่งใดที่มีข้อดีย่อมมีข้อเสียตามมาด้วย ลองค่อยๆอ่านแล้วหาข้อมูลเพิ่มเติมจากนั้นค่อยตัดสินใจครับ ตามมาเรื่อยๆก็แล้วกัน

                  แก๊ส NGV มันคืออะไร ผมคงไม่แปลนะครับ เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือแก๊สที่เกิดจากการทับถม ของซากพืชซากสัตว์ นานวันเข้าก็เกิดเป็นแก๊ส หรือที่เราเรียกกันว่าแก๊สธรรมชาติ หรือให้ลองนึกดูง่ายๆ ก็แก๊สที่เกิดจากขี่หมู ที่นำมาใช้กับเครื่องยนต์ให้พลังงานในฟาร์มหมูนั่นแหละครับ ไม่แตกต่างกันเลย แก๊สชนิดนี้มันจะมีความเบากว่าอากาศ เมื่อถูกขุดเจาะขึ้นมาหากไม่นำไปใช้ก็หายไปในอากาศครับ เราจึงต้องทำที่กักเก็บเพื่อที่จะให้ใช้ได้นานๆ แต่ข้อเสียของมันก็คือมันไม่ยอมเป็นของเหลว หากต้องการทำให้อยู่ในรูปของเหลวจะต้องลดอุณหภูมิลงมากๆ หากจำไม่ผิดก็ประมาณ -150 องศา C เห็นจะได้ มันจึงยอมที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว แล้วจะทำอย่างไรกันดีคงลำบากมากหากนำมาไว้ท้ายรถของเรา แล้วต้องมีเครื่องทำความเย็นให้กับถังแก๊ส ลำบากมิใช่น้อย ดังนั้นเค้าจึงเปลี่ยนวิธีด้วยการเพิ่มความหนาของถังที่จะกักเก็บ เพื่อที่จะเพิ่มแรงดันให้มันมากขึ้น ก็เหมือนกับลูกโป่งนะครับ ยิ่งเพิ่มแรงดันมากเท่าไหร่ ปริมาณแก๊สที่อัดเข้าไปในลูกโป่งก็จะมีมากตามไปด้วย เช่นเดียวกัน ถังบรรจุแก๊ส NGV ก็เป็นเช่นเดียวกับลูกโป่งแต่มันไม่พองตัวตามแรงดันก็เท่านั้น เมื่อเราต้องการให้มีปริมาณแก๊สมากเราก็ต้องเพิ่มแรงดันมันเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และได้ปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ในปัจจุบัน ปตท. กำหนดให้บรรจุแก๊ส NGV เข้าไปที่แรงดัน 3,200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ก็เพียงเพื่อที่จะให้มีปริมาณการใช้งานได้นานพอสมควร 

                     แก๊ส LPG มันคือแก๊สชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการผสมระหว่างแก๊สโปรเพนกับบิวเทน ในอัตรส่วนที่พอเหมาะ แก๊สเหล่านี้ได้จากการกลั่นน้ำมัน ถ้าพูดกันง่ายก็คือของเหลือทิ้ง แต่เราก็นำมันมาใช้ในครัวเรือนแทนการใช้ ฟืน หรือ ถ่าน เพื่อให้ความร้อนในการประกอบอาหาร แต่ด้วยคุณสมบัติที่คล้ายกับน้ำมัน เบนซิน เราจึงเริ่มที่นำมาใช้ในรถยนต์ แก๊ส LPG เมื่อบรรจุเข้าไปในถังที่มีแรงดันแค่ 150 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว มันก็จะควบแน่นกลายเป็นของเหลว เหมือนกับน้ำมันที่อยู่ในถัง เป็นแต่เพียงว่ามันมีแรงดันมากกว่าเท่านั้นเอง การวัดปริมาณ ก็เหมือนกับน้ำมันเพราะมันอยู่ในรูปของของเหลวคือวัดเป็นลิตรเช่นเดียวกัน ด้วยการที่เราบรรจุมันไว้ในถังและอยู่ในรูปของของเหลวมันจึงสามารถนำมาใช้งานเหมือนกับน้ำมันจริงๆ ในเรื่องของการขนย้าย หรือติดตั้งเข้ากับตัวรถยนต์ แต่ข้อเสียงของมันคือ มันจะคล้ายกับน้ำมันเบนซิน เมื่อเราเทลงบนพื้น ไอของน้ำมันก็จะลอยตัวอยู่บนผิวหน้าของน้ำมัน LPG ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการรั่วไหลออกมามันก็จะลอยต่ำลงอยู่เหนือพื้นดิน เนื่องด้วยมันหนักกว่าอากาศนั่นเอง แต่เราก็ป้องกันด้วยการใส่กลิ่นเอาไว้ หากมีการรั่วไหลเราจะได้กลิ่นที่เติมไว้ กลิ่นที่เติมไว้สามารถทำให้เราเวียนหัว อาเจียนได้ หากบางตนแพ้มากๆก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากรักที่จะใช้ LPG เมื่อเราได้กลิ่น ก็แสดงว่ามีแก๊สรั่วไหลออกมาได้ จะต้องรีบตรวจสอบและแก้ไขโดยทันที

                      ราคา  อันนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรานำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ที่จะเลือกใช้แก๊สชนิดใดชนิดหนึ่ง อันนี้ต้องมาเข้าใจหน่วยที่ใช้เรียกปริมาณ ของแก๊สทั้ง 2 ชนิดกันก่อนเดียวจะสับสนกันไปใหญ่ NGV เราใช้หน่วย เป็นกิโลกรัมครับ ส่วน LPG เราเรียกกันเป็น ลิตร ใน 1 กิโลกรัม ของแก๊ส NGV คิดเป็นลิตร ได้ 1.1 ลิตร ส่วน LPG 1 กิโลกรัม คิดเป็นลิตรได้ 1.9 ลิตร ดังนั้นเมื่อเราพูดกันว่า NGV 1 กิโลกรัม ราคา 8.50 บาท ก็จะเท่ากับลิตรละ ประมาณ 7.73 บาท ต่อลิตร (ราคาปัจจุบัน) ส่วน LPG ราคากิโลกรัมละ 18.50 บาท คิดเป็นลิตรก็จะได้ลิตรละ 9.74 บาท (ราคาที่ยังไม่มีการปรับ) ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าข้อแต่ต่างทางด้านราคา NGV จะถูกกว่า 2.01 บาท แต่ราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เราต้องนำมาคิด ต้องดูประสิทธิภาพหลังจากนำมาใช้งานด้วย

                       ราคาติดตั้ง ราคาค่าติดตั้งในส่วนของค่าแรงในการติดตั้งระบบแก๊สทั้ง 2 ชนิดคงไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ แต่ในส่วนราคาค่าอุปกรณ์ NGV จะมีราคาที่สูงกว่า เนื่องจากแก๊ส NGV มีแรงดันที่สูงกว่ามาก อุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นถังบรรจุ หรืออุปกรณ์ลดแรงดัน ท่อนำแก๊สและอื่นๆ จะต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง เพื่อมิให้เกิดอันตรายในระหว่างการใช้งาน เช่น ถัง บรรจุ NGV จะมีราคา ประมาณใบละ 20,000 บาท ขึ้นไป ก็แล้วแต่ว่าทำจากวัสดุอะไร แต่ที่ใช้ทั่วไปก็จะเป็นถังเหล็กหนาประมาณ 1นิ้ว และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ บ้านเราผลิตไม่ได้ ส่วนถัง LPG เป็นถังที่ออกแบบมาเพื่อให้รับแรงดันที่ไม่สูงมาก วัสดุที่ใช้ก็เป็นเหล็กเหมือนกัน แต่จะบางกว่า หนาประมาณ 2.4 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง จึงทำให้น้ำหนักเบากว่า ราคาก็ถูกกว่า ผลิตได้เองในประเทศ นำเข้ามาใช้ไม่ได้ ราคาถังจะเริ่มต้นที่ประมาณ 3,000 บาท เราจะเห็นข้อแตกต่างว่าราคาแก๊สที่ถูกกว่าแต่ราคาค่าติดตั้งจะแพงกว่ากันมาก เช่น NGV ติดตั้งในระบบ ดูด จะเริ่มต้นที่ประมาณ 38,000 บาท ส่วน LPG นั้นในระบบเดียวกันจะเริ่มต้นที่ประมาณ 18,000 บาท เท่านั้นเอง ลองนำไปพิจารณาเอาเองครับ

                         ความสะดวกสบายในการใช้งาน  ในปัจจุบันเราไปเน้นในเรื่องของราคามากจนเกินไป แล้วละเลยเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งาน ก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่ว่าในเวลานี้ ภาครัฐได้มีการส่งเสริมให้คนหันมาใช้ NGV กันมากขึ้น และผู้คนก็สนใจไปใช้กันมากขึ้นเสียด้วย แต่ปรากฏว่าผู้ที่ติดตั้งมาแล้วหาปั้มเติมลำบากมาก เมื่อเจอปั้มแล้วก็ต้องรอคิวไม่ต่ำกว่า ครึ่งชั่วโมง เมื่อถึงคิวแก๊สหมดพอดี คิดแล้วกลุ้มครับ มีท่านเจ้าของรถบางท่านที่ใช้ NGV มาพูดคุยให้ฟังว่าชีวิตเค้าเปลี่ยนไปหลังจากนำรถไปติดตั้ง NGV ตามที่รัฐบาลส่งเสริม ถามว่าชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมันเป็นอย่างไร เค้าก็ตอบว่า เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และในทางที่เลวลง แล้วมันอย่างไรกัน เค้าก็บอกว่า ที่ดีขึ้นคือจ่ายค่าเชื้อเพลิงน้อยลงมามาก ทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่าต่อเดือน แต่ที่เลวลงคือเค้าต้องจัดเวลาให้กับรถของเค้าเพื่อที่จะได้ไปเติมแก๊สโดยที่ไม่ต้องรอคิว หลังจากที่เข้าบ้านแล้วตอนประมาณ 4 ทุ่ม ก็ต้องนำรถไปเติมแก๊สไว้ก่อน พรุ่งนี้จะได้มีแก๊สใช้ และต้องทำอย่างนี้ทุกวัน เพราะมันเติมได้น้อยเติมแต่ละครั้งก็จะวิ่งได้ไม่กี่กิโล ใช้เวลาในการเติมแต่ละหนก็นาน หากไม่ต้องรอคิว ก็ประมาณ 30 นาที ขนาดเอารถไปเติมตอนกลางคืนแล้วยังไม่วายที่จะต้องรอคิว จนเค้าต้องเอารถอีกคันไปติดตั้ง LPG แล้วก็นำมาใช้งาน เค้าบอกว่าทำไมสิ่งที่รัฐสนับสนุนจึงดีสู่สิ่งที่ไม่สนับสนุนไม่ได้ เค้าใช้เวลาในการเติม LPG ไม่เกิน 5 นาที ไม่ต้องรอคิว ปั้มมีมากมายเสียเหลือเกิน เติมแต่ละครั้งก็ใช้งานได้นานเหมือนกับใช้น้ำมัน จนเค้าบอกว่า ทุกวันนี้รถที่ติด NGV แทบจะจอดทิ้งเอาไว้เฉยๆแล้ว ก็อย่างที่บอกละครับให้ศึกษารอบๆด้านหลายๆมุม แล้วค่อยตัดสินใจ ยกตัวอย่างอีกสักคนดีกว่า ก็เป็นพยาบาลครับ ได้รถมาก็อยากจะประหยัดเงินในกระเป๋าเพราะต้องใช้รถทุกวัน ก็เลยปรึกษากับ คุณพ่อ คุณแม่ ทั้งสองท่านก็สนับสนุนให้ใช้เชื้อเพลิงทดแทน แล้วก็ศึกษาจากข้อมูลต่างๆของ ปตท. จนเป็นที่แน่ใจก็บอกกับลูกว่า นำรถไปติดตั้ง NGV เถอะ ลูกก็มั่นใจว่าพ่อได้ศึกษาหาข้อมูลมาดีแล้ว หมดเงินไปราว 60,000 กว่าบาท ติดตั้งอย่างดี หลังจากใช้งานมาประมาณเดือนเศษ ต้องกลับไปที่ร้านที่ติดตั้งเพื่อแก้ไขหลายครั้งหลายหน กับปัญหาอยู่ๆเครื่องดับไปเฉยๆ แล้วก็เป็นผู้หญิงเสียด้วย เค้าเล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้ขับรถไปร้องไห้ไป คุยไปคุยมาก็จะร้องไห้อีก เค้าเองเค้าก็บอกว่าไม่น่าที่จะไปเชื่อเลย แล้วเวลาเกิดปัญหามันไม่เห็นมาช่วยเราเลย สุขภาพจิตเสียหมดแล้ว ของเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน ติด LPG ไป ไม่เห็นมีปัญหาอย่างของเค้าเลย พูดไปพูดมาก็จะร้องไห้อีกเห็นแล้วก็อดสงสารไม่ได้ ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยที่นำมาให้อ่านกัน เพื่อให้ศึกษาให้ดีก่อนการตัดสินใจ บางเรื่องเชื่อได้บางเรื่องต้องรอเวลา ลองสอบถามผู้ที่ใช้จริงจะดีที่สุด ถามหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหยัด เรื่องการใช้งาน เรื่องความสะดวกในการใช้งาน ถามทุกอย่างที่เราอยากรู้และเราสงสัย ถามให้แน่ใจแล้วค่อยตัดสินใจ จะได้ไม่เสียใจในภายหลังครับ

                     ท้ายที่สุด ชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ไม่ว่าจะดีขึ้นหรือเลวลงก็ตามที แต่หากคุณได้ตัดสินใจเลือกที่จะใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงทดแทนให้กับรถของคุณ ไม่ว่าจะเป็น NGV หรือ LPG ก็ตามที จงรับรู้ไว้ด้วยว่าคุณได้ช่วยลดมลภาวะให้กับโลกใบนี้อีกคน จงภาคภูมิใจในสิ่งที่คุณตัดสินใจทำลงไป อย่ามัวแต่ห่วงเรื่องเงินในกระเป๋าคุณอย่างเดียว จงสำนึกเสมอว่าคุณทำเพื่อให้ลูกของคุณ มีอากาศที่ดี มีโลกที่น่าอยู่สำหรับอนาคตของเค้า ผมขอแสดงความยินดีกับพวกคุณด้วยที่ตัดสินใจใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถของคุณ ขอคาราวะด้วยความจริงใจ

หมี ดำเนิน  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้