Last updated: 11 พ.ค. 2553 | 8589 จำนวนผู้เข้าชม |
ไปไหนมาไหนความปลอดภัยต้องมาก่อน
อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในรถยนต์อย่างแรกคือ “เข็มขัดนิรภัย” ที่สามารถสร้างและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถได้มาก เช่นช่วยให้ผู้โดยสารไม่โดนแรงเหวี่ยงพุ่งไปชนกระจกหน้าหรือทะลุกระจกออกไปกองอยู่นอกรถ หรือเอาศีรษะไปกระแทกกับพวงมาลัย-แผงหน้าปัด ของตกแต่งหน้ารถที่เราเอามาวาง หรืออื่นๆอีกมากมาย จนสมองได้รับความกระทบกระเทือน
จากเข็มขัดนิรภัยรุ่นเก่าซึ่งมีหน้าที่เพียงแค่รั้งหรือยึดผู้โดยสารเอาไว้กับเบาะก็ได้รับการออกแบบและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพิ่มความปลอดภัยและลดอาการบาดเจ็บให้น้อยลง เป็นเข็มขัดนิรภัย 3 จุด E.L.R. (Emergency Locking Retractor) เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยในสภาพขับขี่ปกติจะทำให้ผู้ขับขี่สามารถขยับตัวได้อย่างอิสระ และขณะเดียวกันก็รักษาความตึงควบคู่ไปด้วย เมื่อเกิดการปะทะอย่างรุนแรง จะล็อคและรั้งผู้ขับขี่ไม่ให้ไปปะทะกับพวงมาลัยหรือแผงหน้าปัด แต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่ที่ใช้ในรถเก๋งราคาแพง จะเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบปรับตัว Pretensioner โดยเข็มขัดนิรภัยจะเพิ่มระบบดึงรั้งกลับแล้วยึดผู้โดยสารเอาไว้กับเบาะนั่ง
แม้กฎหมายเกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัยจะบังคับใช้มานานพอดู แต่ก็ยังมีผู้ที่ขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยให้เห็นกันอยู่เสมอ โดยอ้างว่าคาดแล้วอึดอัดรำคาญ หรือกลัวว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถคว่ำตกน้ำ หรือไฟไหม้ ผู้ประสบอุบัติเหตุอาจหมดสติหรือไม่รู้วิธีปลดเข็มขัด ข้อโต้แย้งเหล่านี้ ทางสมาคมป้องกันอุบัติภัยในการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาข้อมูลจำนวนมากพบว่าไม่เป็นความจริง การพันธนาการให้ขาดอิสระอาจจะเป็นไปได้เฉพาะเข็มขัดชนิด”ตรึงกับที่” แบบที่ใช้อยู่ในเครื่องบิน แต่เข็มขัดที่ใช้ในรถยนต์เดี๋ยวนี้เป็นแบบ “ยืดหยุ่น” สามรถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และสถิติที่วิเคราะห์ได้พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากจุดเริ่มต้นของความเร็วเดินทางไม่เกิน 40 กม./ชม. ซึ่งความเร็วระดับดังกล่าวนี้แรงกระแทกที่เกิดขึ้นจะเทียบเท่ากับการที่เราตกลงมาจากตึก 2 ชั้นความสูง 6 เมตร คิดเอาเองละกันว่ามันรุนแรงขนาดไหน
กรณีที่กลไกตัวปลดล็อคเกิดการเสียหายจากแรงของอุบัติเหตุเป็นไปได้น้อยมาก เท่าที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ ไม่สามารถปลดตัวล็อคออกได้ เนื่องจากการใส่หัวสายผิด คือหัวสายเสียบล็อกของรถบางรุ่นจะทำเป็นมุมเอียงเล็กน้อย เข้าใจว่าจุดประสงค์คือเมื่อเสียบแล้วมันจะทำให้หัวสายเอนออกจากตัวล็อค ทำให้กดปุ่มปลดล็อคได้ง่าย แต่ถ้าผู้ใช้ใส่หัวสายกลับด้านซึ่งมันก็ล็อคตัวได้เช่นกันแต่หัวสายจะเอียงผิดทาง แทนที่จะเอียงออกเปิดทางให้กดปุ่มปลดล็อคได้ง่ายกลับกลายเป็นยาก ดังนั้นเมื่อเราใช้เข็มขัดนิรภัยคราวใดให้สังเกตดูให้ดีด้วย ทดลองง่ายๆด้วยการเสียบหัวสายเข้าไปแล้วทดลองกดปุ่มปลดล็อคดูว่ามันปลดได้ง่ายหรือไม่ หากปลดได้ยากลองดูคู่มือการใช้งานของรถอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจในการใช้งานให้ถูกวิธี มันควรที่จะทำหน้าที่เป็นเข็มขัดป้องกันภัยไม่ใช่เป็นเข็มขัดทำให้เกิดภัยครับ
อีกกรณีในลักษณะเดียวกันเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุตกน้ำ หรือรถชนกันแล้วเกิดไฟไหม้ ผู้โดยสารไม่สามารถออกมาจากรถได้ สาเหตุคงไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของกลไกปลดล็อคเข็มขัดนิรภัย มันน่าจะอยู่ที่ตัวผู้โดยสารเองมากกว่า อาจจะขาดสติทำให้ไม่สามารถปลดล็อคได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ขนาดแค่กดปุ่มนิดเดียวให้เข็มขัดหลุด ยังตื่นตกใจไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้นถึงจะไม่มีเข็มขัดนิรภัยรัดตัวเอาไว้ ก็คงไม่มีสติพอที่จะดึงมือเปิดประตูได้หรอก เพราะมันยากกว่าการกดปุ่มปลดล็อคเข็มขัดนิรภัยหลายเท่านัก ด้วยเหตุนี้ถ้าจะยกให้เป็นความผิดของการคาดเข็มขัดนิรภัยก็ไม่น่าที่จะถูกนัก หรือถ้าเกิดไม่ขาดเข็มขัดนิรภัย แล้วตัวถูกแรงกระแทกพุ่งไปชนนู่นชนนี่จนบาดเจ็บหรือหมดสติ แบบนี้ถึงไม่มีเข็มขัดนิรภัยมารั้งตัวไว้ ก็ไม่สามารถออกจากรถได้เช่นกัน
ประการสำคัญในการขับขี่รถในปัจจุบันยังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่ารถตนเองนั้นมีถุงลมริรภัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เข็มขัดนิรภัย อันนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง ถุงลมนิรภัยจะทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพจะต้องใช้ควบคู่กับเข็มขัดนิรภัยเสมอ มีการทดสอบมาแล้วว่าหากไม่ขาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุถุงลมนิรภัยจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บมากกว่าการที่เราคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วไม่มีถุงลมนิรภัยเสียอีก ดังนั้นเมื่อเราซื้อรถที่มีอุปกรณ์ในการป้องกันและทำให้เกิดความปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุมาแล้วพร้อมกับตัวรถ ก็อย่าเพียงเอาไว้คุยกันในหมู่เพื่อนฝูงว่ารถเรานั้นมีอุปกรณ์ที่เหนือกว่า กรุณาศึกษาและใช้มันอย่าเข้าใจเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็ในเมื่อเราเสียเงินซื้อมันมาแล้วนิครับ
หมี ดำเนิน
6 ก.ย. 2551
6 ก.ย. 2551
29 ก.ค. 2563
6 ก.ย. 2551